เรื่องที่ 18 ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุโพแทสเซียม

02/05/2020

บทความชุด “ดิน ธาตุอาหารและปุ๋ย” เพื่อ “เพิ่มผลผลิต”

เรื่องที่ 18 ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุโพแทสเซียม

รองศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ โอสถสภา

ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

1. คำนำ

    1.1 ความหมายของปุ๋ยโพแทช

        ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุโพแทสเซียมเรียกว่า “ปุ๋ยโพแทสเซียม” หรือ “ปุ๋ยโพแทช” ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลัก คือ โพแทสเซียมเพียงธาตุเดียว หรือมีธาตุโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบสำคัญ

    1.2 การจำแนกปุ๋ยโพแทช หรือปุ๋ยโพแทสเซียม

         การจำแนกปุ๋ยโพแทชมี 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 จำแนกเป็นปุ๋ยเชิงเดี่ยวกับปุ๋ยเชิงประกอบ ส่วนวิธีที่ 2 จำแนกเป็นปุ๋ยมีคลอไรด์กับปุ๋ยปลอดคลอไรด์

         การจำแนกวิธีที่ 1 จำแนกเป็นปุ๋ยเชิงเดี่ยวกับปุ๋ยเชิงประกอบ

        1) ปุ๋ยโพแทชเชิงเดี่ยว มี 2 ชนิด ได้แก่โพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) และโพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50)

         2) ปุ๋ยเชิงประกอบที่มีโพแทสเซียม ได้แก่โพแทสเซียมไนเทรต (13-0-46) และโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (0-52-34)

         การจำแนกวิธีที่ 2 จำแนกเป็นปุ๋ยมีคลอไรด์กับปุ๋ยปลอดคลอไรด์ ดังนี้

          1) ปุ๋ยโพแทชมีคลอไรด์ คือ โพแทสเซียมคลอไรด์ ปุ๋ยนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า muriate of potash หรือเรียกอย่างย่อว่า MOP

          2) ปุ๋ยโพแทชปลอดคลอไรด์ มีคลอไรด์ต่ำกว่า 3% ได้แก่ โพแทสเซียมซัลเฟต โพแทสเซียมไนเทรต และโมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต

2. โพแทสเซียมคลอไรด์

     2.1. แหล่งของโพแทช

           แหล่งของโพแทชที่ใช้ผลิตปุ๋ยมี 3 แบบ คือ

          (1) แหล่งแร่ใต้ดิน เป็นแหล่งแร่โพแทชที่ขุดจากใต้ดิน

          (2) แหล่งแร่บนผิวดิน ได้แก่แหล่งแร่โพแทสเซียมไนเทรตในประเทศชิลี

          (3) น้ำทะเลบางแห่ง มีเกลือโพแทสละลายอยู่มาก จึงแยกจากน้ำเค็มมาผลิตปุ๋ย

     2.2 การผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์

        การผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์มี 3 ขั้นตอน คือ

          (1) การขุดและนำแร่โพแทชจากแหล่ง (ภาพที่ 1)

          (2) แต่งแร่ให้สะอาด

          (3) คัดและแยกขนาดตามประเภทผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขนาดเม็ดปุ๋ย (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 1 การขุดแร่โพแทชในแหล่งใต้ดิน

 

ภาพที่ 2 ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ชนิดเม็ด

3. ปุ๋ยโพแทชปลอดคลอไรด์

    การผลิตปุ๋ยโพแทชปลอดคลอไรด์ มีดังนี้

(1)     โพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50) ผลิตได้จากปฏิกิริยาระหว่างโพแทสเซียมคลอไรด์กับกรดซัลฟิวริก

           2KCl + H2SO4  à K2SO4 + 2HCl

(2)     โพแทสเซียมไนเทรต (13-0-46) ผลิตได้จากปฏิกิริยาระหว่างโพแทสเซียมคลอไรด์กับกรดไนทริก

           KCl + HNO3  à KNO3 + HCl

     (3) โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต (0-52-34) ผลิตได้จากปฏิกิริยาระหว่างโพแทสเซียมคลอไรด์กับกรดฟอสฟอริก

                       KCl + H3PO4  à KH2PO4 + HCl

      เห็นได้ว่าปุ๋ยโพแทชปลอดคลอไรด์ทุกชนิดใช้โพแทสเซียมคลอไรด์เป็นวัตถุดิบ และต้องผ่านกระบวนการทางเคมีอีกครั้งหนึ่ง ราคาต่อหน่วยจึงแพงกว่าปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์

4. การเปลี่ยนแปลงของปุ๋ยโพแทชในดิน

    เมื่อใส่ปุ๋ยโพแทชลงไปในดินจะมีการเปลี่ยนแปลง 4 แบบ คือ

1)         เม็ดปุ๋ยดูดความชื้นแล้วค่อยๆละลาย แล้วแตกตัวเป็นไอออน อยู่ในสารละลายดิน ดังนี้

-โพแทสเซียมคลอไรด์ แตกตัวได้ โพแทสเซียมไอออนกับคลอไรด์ไอออน

                    2KCl  à K+ + Cl-

-โพแทสเซียมซัลเฟต แตกตัวได้ โพแทสเซียมไอออนกับซัลเฟตไอออน

                    K2SO4 à 2K+ + SO42-

-โพแทสเซียมไนเทรต แตกตัวได้ โพแทสเซียมไอออนกับไนเทรตไอออน

                    KNO3  à K+ + NO3-

          -โมโนโพแทสเซียมฟอสเฟต แตกตัวได้ โพแทสเซียมไอออนกับไดไฮโดรเจนฟอสเฟตไอออน

                               KH2PO4 à K+ + H2PO4-

    2) รากพืชดูดไอออนไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ โพแทสเซียมไอออน (K+) กับแอนไอออนของปุ๋ยที่ใส่ เช่น คลอไรด์ไอออน (Cl-) ซัลเฟตไอออน (SO42-) ไนเทรตไอออน (NO3-) หรือ ไดไฮโดรเจนฟอสเฟตไอออน (H2PO4-)

    3) มีปฏิกิริยาของโพแทสเซียมไอออนและแอนไอออนในดิน (ส่วนที่รากพืชยังไม่ได้ดูดไปใช้) ดังนี้

        (1) โพแทสเซียมไอออนในสารละลายดิน เป็นโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ และโพแทสเซียมที่ถูกตรึง

        (2) แอนไอออนไอออนในสารละลายดิน บางส่วนเป็นแอนไอออนที่แลกเปลี่ยนได้

    4) โพแทสเซียมไอออนและแอนไอออนสูญหายจากดินโดยการชะละลายและการกร่อนดิน

-----------------------------------------